ตอนที่ 8 “ประเมินสภาพ กำหนดยุทธศาสตร์”

          เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการเยี่ยมหน่วยงานเป็นรายกรม รายสำนักงานเพื่อทำความรู้จักคณะผู้บริหารและข้าราชการ ตลอดจนไปค้นหาศักยภาพของแต่ละหน่วย   ค้นหาคำตอบว่างานสำคัญหนึ่งเดียวที่เขาอยากทำที่สุดใน 1 ปี ร่วมกับทีม รมว.คืองานอะไร
เริ่มจากสำนักงานปลัดกระทรวง พม. (พม.)  นำโดยท่านปลัดกระทรวงคุณวัลลภ พลอยทับทิม, รองปลัดชาญยุทธ์, รองปลัดกานดา, ผอ.สุวินัย (สน.มาตรฐาน), ผอ.ระรินทร์ทิพย์ (สนย.), ผอ.ปันนัดดา (กอง ปชส.) ฯลฯ
บ่ายมาที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) นำโดย อธิบดี พนิตา กำภู ณ อยุธยา ที่นี่ ผู้บริหารมีแต่ผู้หญิงทั้งนั้น   เป็นหน่วยงานที่มีกำลังคนและงบประมาณมากที่สุดในแต่ละปี (ไม่นับรวม กคช.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ)   หน่วยงานนี้เป็นรากฐานของกระทรวง พม. ซึ่งก็คือ กรมประชาสงเคราะห์เก่านั่นเอง ที่ตั้งกระทรวงในปัจจุบันนี้ก็ใช้บริเวณกรมประชาสงเคราะห์เก่านี่แหละ

16-17 ต.ค. เป็นงานประจำปี (สัมมนาวิชาการ) เครือข่ายเมืองน่าอยู่ ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 3 แล้ว เวทีวิชาการประจำปี ของเครือข่ายHealthy City (HC) นี้เป็นเวทีที่รวมเอาคนที่ทำงาน HC – เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ทั่วประเทศมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ระดมความคิดและเคลื่อนไหวสาธารณะร่วมกัน

          เรามีโครงการประสานการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ ซึ่ง สสส.ให้การสนับสนุนปีละ 10 ล้านบาท ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี   มูลนิธิพัฒนาไท และ LDI เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการ สศช. (สภาพัฒนาฯ) เป็นองค์กรภาคี เช่นเดียวกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และกรมอนามัย กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
          โครงการ HC ทำงานมา 2 ปี กิจกรรมหลักได้แก่ การพัฒนาตัวชี้วัด การเก็บข้อมูลเมืองตามดัชนีชี้วัด และประเมินสภานภาพเมืองน่าอยู่ทั่วประเทศ  จัดทำเป็นรายงานสภาวะเมืองน่าอยู่ประจำปีทุกปี เพื่อประกาศผลการจัดอันดับความน่าอยู่ของเมือง   นอกจากนั้นยังมีงานค้นหากรณีศึกษาที่เป็น Best Practices ด้านต่าง ๆ ถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้   จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภาคและระดับชาติ อย่างต่อเนื่อง
          ในการประเมินความน่าอยู่ของเมือง โครงการได้แบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่ เมืองปลอดภัย เมืองสะอาด เมืองคุณภาพชีวิต เมืองธรรมาภิบาล และเมืองวัฒนธรรม
          LDI จัดอันดับ ความน่าอยู่ของเมืองทั่วประเทศ (Ranking) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเมืองขนาดเล็ก (เทศบาลตำบล) กลุ่มเมืองขนาดกลาง (เทศบาลเมือง) และกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ (เทศบาลนคร)
          ปีแรกที่ LDI จัดอันดับและประกาศสู่สาธารณะ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการอยู่บ้าง แต่ปีที่ 2 เริ่มมีการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ประชาคมเมืองน่าอยู่เริ่มเข้าใจและเห็นคุณค่าของงานวิจัยประเมินความน่าอยู่ของเมืองมากขึ้นแล้ว
          ปีที่ 2 LDI สำรวจข้อมูลจาก 22 เทศบาลนคร, 107 เทศบาลเมือง และ 203 เทศบาลตำบล
          ในเวทีครั้งนี้ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาล (คุณวิจัย อมราลิขิต) มาร่วมอภิปรายด้วยตนเอง,  มีนายก อบจ.บุรีรัมย์มาด้วย,  มีผู้อำนวยการศูนย์บริหารยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง (ศอม.), มีเลขาธิการ สศช. (คุณกิติศักดิ์) มาด้วย งานปีนี้คึกคักมาก
          ท้ายการประชุม เขามีพิธีการ “ประกาศเจตนารมณ์” เครือข่ายเมืองน่าอยู่แห่งชาติ” เป็นครั้งแรก ซึ่งก็เท่ากับว่า ณ บัดนี้ได้มีการสถาปนาความเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการแล้ว
          18 ต.ค. ไปเยี่ยมการเคหะแห่งชาติ สำนักงานใหญ่อยู่ที่เคหะคลองจั่น ที่นี่เป็นที่ทำงานเดิมของพี่ปรีดา และพี่มณี(พี่ภรรยา)   วณีเองก็เคยอาศัยอยู่กับพี่ชายและพี่สะใภ้ที่นี่ด้วย
          การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวง พม. หนึ่งเดียวที่กำลังมีเรื่องร้อนมาก ๆ ให้ต้องดูแล คือ โครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่ง คตส. กำลังคุ้ยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเข้มข้น
          ระหว่างเดินชมบริเวณสำนักงานใหญ่และบ้านตัวอย่างโครงการ “เอื้ออาทร” มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2-3 คน ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้บริหารชุดเดิมมากระซิบข้อมูล เพราะพวกเขารู้ว่าทีม รมว. ชุดนี้มือสะอาด และน่าจะช่วยองค์กรของเขาได้
          กคช. คือหนังบู๊ แอ๊คชั่น และเรื่องยาว ที่ต้องดูแลกันจริงจัง
          19 ต.ค. ไปเยี่ยมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และ สำนักงานพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และคนพิการ (สท.)  ก่อนที่ผมจะแยกตัวไปประชุมกับ สปสช. เรื่องงานโครงการกองทุนสุขภาพตำบลที่ LDI รับผิดชอบค้างอยู่ ปล่อยให้ทีมงานไปเยี่ยมสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กันตามลำพัง
          20 ต.ค. ทานข้าวกลางวันกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคุณสนธิญาณ หนูแก้ว   ท่านจิรายุเป็นผู้นัด เพราะอยากคุยด้วยเกี่ยวกับเรื่องงานเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านเป็นประธานอนุกรรมการของ สศช.อยู่
          ท่านจิรายุได้ฟัง idea เรื่องการสำรวจครอบครัวเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้กองทุนหมู่บ้าน 75,000 แห่ง ที่ผมนำเสนอ ดูท่านตื่นเต้นมาก
          21 ต.ค. อาจารย์ประเวศ ลงทุนนัดทีม รมว. พม. และทีม มสช. มาตามเรื่องยุทธศาสตร์สังคมที่มอบการบ้านไว้ให้ วันนั้นวันเสาร์ตั้งแต่เช้า อ.ประเวศท่านคึกคักมาก ท่านนำเสนอ 3 ยุทธศาสตร์สังคม คือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นให้แก่พวกเราพอสมควร
          เราระดมความคิดกันต่อ จนได้กรอบความคิดที่มากพอแล้ว   ผมถามพี่เอนกว่า เรา 2 คน ใครสักคนต้องทำหน้าที่เรียบเรียงเป็นเอกสาร สำหรับขับเคลื่อนงาน พี่เอนกรับปากว่าจะทำให้เอง
          22  ต.ค.  ไปพิษณุโลกเพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน  ซึ่งมีการประชุมกันทุกเดือน
          ปัญหาสำคัญของสถาบันนี้คือ ขาดงบประมาณ เพราะมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนน้อยมากจนต้องใช้เงินสำรองขององค์กร  ทำให้ร่อยหรอลงไปทุกขณะ
          พวกเขายังไม่แข็งแรงพอ คงต้องช่วยประคับประคองกันไปอีกพักใหญ่ทีเดียว
          ผมแอบหวังในใจว่างานของกระทรวง พม.น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสแก่ สพอ.มากขึ้นกว่าเดิม
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
22 ตุลาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 8 “ประเมินสภาพ กำหนดยุทธศาสตร์”"

Leave a comment

Your email address will not be published.